หลักสูตร/มาตรฐาน/ตัวชี้วัด

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551

  

                หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2551  จัดทำขึ้นสำหรับท้องถิ่นและสถานศึกษาได้นำไปใช้เป็นกรอบและทิศทางในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา และจัดการเรียนการสอน
เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยทุกคนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพด้านความรู้และทักษะ

ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง และแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

 

1.  วิสัยทัศน์

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคน  ซึ่งเป็นกำลังของชาติให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย  ความรู้  คุณธรรม  มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและเป็นพลโลก ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  มีความรู้และทักษะพื้นฐาน  รวมทั้งเจตคติที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อการประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต  โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ

 

2.  การจัดการเรียนรู้

                     การจัดการเรียนรู้เป็นกระบวนการสำคัญในการนำหลักสูตรสู่การปฏิบัติ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เป็นหลักสูตรที่มีมาตรฐานการเรียนรู้ สมรรถนะสำคัญและคุณลักษณะ

อันพึงประสงค์ของผู้เรียน เป็นเป้าหมายสำหรับพัฒนาเด็กและเยาวชน

                ในการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณสมบัติตามเป้าหมายหลักสูตร  ผู้สอนพยายามคัดสรรกระบวนการเรียนรู้ จัดการเรียนรู้โดยช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ผ่านสาระที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้  รวมทั้งปลูกฝังเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ พัฒนาทักษะต่างๆ อันเป็นสมรรถนะสำคัญให้ผู้เรียนบรรลุตามเป้าหมาย

2.1  หลักการจัดการเรียนรู้

                                     การจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้  ความสามารถตามมาตรฐานการเรียนรู้ สมรรถนะสำคัญ  และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษา
ขั้นพื้นฐาน   โดยยึดหลักว่า ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด เชื่อว่าทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้  ยึดประโยชน์ที่เกิดกับผู้เรียน กระบวนการจัดการเรียนรู้ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียน สามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและพัฒนาการทางสมองเน้นให้ความสำคัญทั้งความรู้ และคุณธรรม

 

2.2. กระบวนการเรียนรู้

                                     การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ   ผู้เรียนจะต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้  ที่หลากหลาย  เป็นเครื่องมือที่จะนำพาตนเองไปสู่เป้าหมายของหลักสูตร  กระบวนการเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน อาทิ กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ กระบวนการสร้างความรู้   กระบวนการคิด กระบวนการทางสังคม กระบวนการเผชิญสถานการณ์และแก้ปัญหา กระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง  กระบวนการปฏิบัติ  ลงมือทำจริง  กระบวนการจัดการ  กระบวนการวิจัย กระบวนการเรียนรู้การเรียนรู้ของตนเอง  กระบวนการพัฒนาลักษณะนิสัย

                    กระบวนการเหล่านี้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนควรได้รับการฝึกฝน พัฒนา เพราะจะสามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี  บรรลุเป้าหมายของหลักสูตร ดังนั้นผู้สอน                   จึงจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจในกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเลือกใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.3  การออกแบบการจัดการเรียนรู้

                                    ผู้สอนต้องศึกษาหลักสูตรสถานศึกษาให้เข้าใจถึงมาตรฐานการเรียนรู้  ตัวชี้วัด  สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์  และสาระการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน

แล้วจึงพิจารณาออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยเลือกใช้วิธีสอนและเทคนิคการสอน  สื่อ/แหล่งเรียนรู้

การวัดและประเมินผล เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพและบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด 

 

3. หลักการ

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหลักการที่สำคัญ  ดังนี้

          3.1  เป็นหลักสูตรการศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ มีจุดหมายและมาตรฐาน

การเรียนรู้  เป็นเป้าหมายสำหรับพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้  ทักษะ  เจตคติ  และคุณธรรม

บนพื้นฐานของความเป็นไทยควบคู่กับความเป็นสากล

         3.2  เป็นหลักสูตรการศึกษาเพื่อปวงชน  ที่ประชาชนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษา

อย่างเสมอภาค และมีคุณภาพ

        3.3  เป็นหลักสูตรการศึกษาที่สนองการกระจายอำนาจ ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่น

        3.4  เป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นทั้งด้านสาระการเรียนรู้  เวลาและ

การจัดการเรียนรู้

        3.5  เป็นหลักสูตรการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

        3.6  เป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย  ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย  สามารถเทียบโอนผลการเรียนรู้ และประสบการณ์  

4. จุดหมาย

                  หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี  มีปัญญา  มีความสุข  
มีศักยภาพในการศึกษาต่อ  และประกอบอาชีพ   จึงกำหนดเป็นจุดหมายเพื่อให้เกิดกับผู้เรียน              เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน   ดังนี้

            4.1  มีคุณธรรม  จริยธรรม  และค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นคุณค่าของตนเอง  มีวินัยและปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาที่ตนนับถือ  ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

           4.2  มีความรู้ ความสามารถในการสื่อสาร  การคิด การแก้ปัญหา   การใช้เทคโนโลยี 

และมีทักษะชีวิต

           4.3  มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีสุขนิสัย และรักการออกกำลังกาย

           4.4  มีความรักชาติ มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลโลก  ยึดมั่นในวิถีชีวิต

และการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

           4.5  มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย   การอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม  มีจิตสาธารณะที่มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามในสังคม และอยู่ร่วมกันในสังคม

อย่างมีความสุข   

 

5. สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน

    หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญ  5  ประการ ดังนี้

                                5.1  ความสามารถในการสื่อสาร เป็นความสามารถในการรับและส่งสาร  มีวัฒนธรรมในการใช้ภาษาถ่ายทอดความคิด ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึก และทัศนะของตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคม รวมทั้งการเจรจาต่อรองเพื่อขจัดและลดปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ การเลือกรับหรือไม่รับข้อมูลข่าวสารด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง ตลอดจนการเลือกใช้วิธีการสื่อสาร ที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตนเองและสังคม

                                5.2  ความสามารถในการคิด เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิด อย่างสร้างสรรค์  การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การสร้าง

องค์ความรู้หรือสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม

                               5.3  ความสามารถในการแก้ปัญหา  เป็นความสามารถในการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมบนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรมและข้อมูลสารสนเทศ

เข้าใจความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคม แสวงหาความรู้ ประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา  และมีการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตนเอง  สังคม  และสิ่งแวดล้อม

                                5.4  ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต   เป็นความสามารถในการนำกระบวนการต่าง ๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  การทำงาน  และการอยู่
ร่วมกันในสังคมด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล   การจัดการปัญหาและความขัดแย้งต่าง ๆอย่างเหมาะสม  การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม  และการรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น

                                5.5  ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี  เป็นความสามารถในการเลือก และใช้ เทคโนโลยี

ด้านต่าง ๆ และมีทักษะกระบวนการทางเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม ในด้านการเรียนรู้

การสื่อสาร  การทำงาน  การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์  ถูกต้อง  เหมาะสม  และมีคุณธรรม

6.  คุณลักษณะอันพึงประสงค์

     หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข  ในฐานะเป็นพลเมืองไทยและพลโลก   ดังนี้

6.1  รักชาติ  ศาสน์ กษัตริย์

6.2  ซื่อสัตย์สุจริต

6.3  มีวินัย

6.4 ใฝ่เรียนรู้

6.5 อยู่อย่างพอเพียง

6.6  มุ่งมั่นในการทำงาน

6.7  รักความเป็นไทย

6.8  มีจิตสาธารณะ

นอกจากนี้ สถานศึกษาสามารถกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์เพิ่มเติมให้สอดคล้องตามบริบทและจุดเน้นของตนเอง   

 

  หลักสูตรสถานศึกษา  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  ช่วงชั้นที่ 3        
       
  
วิสัยทัศน์โรงเรียนพิมายวิทยา  (VISION)
ยกระดับ ปรับระบบ มุ่งมั่นพัฒนาสู่ความเป็นสากล


 พันธกิจ (MISSION)


1.    โรงเรียนและชุมชนส่งเสริมให้นักเรียนมีคุณธรรมจริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่าง มีความสุข
2.    โรงเรียนและชุมชนส่งเสริมผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ประสบการณ์ทั้งด้านวิชาการและทักษะในงานอาชีพเพื่อเป็นพื้นฐาน ในการ ศึกษาต่อและการประกอบอาชีพ
3.    โรงเรียนและชุมชนส่งเสริมและสนับสนุนนักเรียนที่มีอัจฉริยภาพแต่ละด้านให้สามารถพัฒนา

        ตนเองได้เต็มศักยภาพ
4.    โรงเรียนและชุมชนนำเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการศึกษามาพัฒนาการเรียนการสอนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และร่วมกัน ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นส่วนหนึ่งของขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม

                                                          
เป้าประสงค์ (
OBJECTIVE)


1.    ผู้เรียนทุกคนมีระเบียบวินัยในตนเอง มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลาซื่อสัตย์ต่อตนเองและ ผู้อื่น พร้อมทั้งเห็นคุณค่า ของการทำงานอาชีพสุจริต
2.    ผู้เรียนทุกคนมีความอดทน ขยันหมั่นเพียรใฝ่รู้ใฝ่เรียนและมีทักษะในการศึกษาค้นคว้า
3.    ผู้เรียนทุกคนมีน้ำใจนักกีฬามีความเสียสละไม่เห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม
4.    ผู้เรียนทุกคนรู้จักประหยัดและออมรวมทั้งรู้จักใช้พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างประหยัดและเห็นคุณค่า
 5.  ผู้เรียนทุกคนมีความรักและภาคภูมิใจในวัฒนธรรมไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นมรดกของบรรพบุรุษ

 

 

 

 

 

สาระการเรียนรู้ และมาตรฐานการเรียนรู้ 

กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ

 

 

1.  ความสำคัญ

                กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เป็นพื้นฐานสำคัญที่ผู้เรียนทุกคนต้องเรียนรู้โดยได้รับการจัดลำดับความสำคัญอยู่ในกลุ่มที่สอง  ซึ่งเป็นสาระการเรียนรู้ที่เสริมสร้างพื้นฐานความเป็นมนุษย์และสร้างศักยภาพในการคิดและทำงานอย่างสร้างสรรค์

                ภาษาอังกฤษได้รับการกำหนดให้เรียนในทุกช่วงชั้น โดยจัดเป็นสาระพื้นฐานที่ผู้เรียนทุกคนต้องเรียนและจัดเป็นสาระการเรียนรู้เพิ่มเติม  ที่มีความลึกและความเข้มข้น  หรือรายวิชาใหม่ให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนตามความถนัด  ความสนใจ  ความต้องการและความแตกต่างระหว่างบุคคล

                ส่วนภาษาญี่ปุ่นได้จัดทำเป็นสาระการเรียนรู้เพิ่มเติมในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายตามความสนใจ

2.  ลักษณะเฉพาะ

                การเรียนภาษาต่างประเทศ  ไม่ได้เรียนเพื่อความรู้เกี่ยวกับภาษาเท่านั้นแต่เรียนภาษาเพื่อให้สามารถใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการติต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้ตามความต้องการในสถานการณ์ต่างๆ ทั้งในชีวิตประจำวันและการงานอาชีพ  การที่ผู้เรียนจะใช้ภาษาได้อย่างถูกต้องคล่องแคล่วและเหมาะสมนั้น  ขึ้นอยู่กับทักษะการใช้ภาษา  ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนที่ดี  ผู้เรียนต้องมีโอกาสได้ฝึกทักษะการใช้ภาษามากที่สุด ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน  การจัดการเรียนการสอนต้องสอดคล้องกับธรรมชาติและลักษณะเฉพาะของภาษา  การจัดการเรียนการสอนภาษา  จึงจัดกิจกรรมที่หลากหลายทั้งกิจกรรมฝึกทักษะทางภาษา  และกิจกรรมการฝึกให้รู้วิธีการเรียนภาษาด้วยตนเองควบคู่ไปด้วย  อันจะนำไปสู่การเป็นผู้เรียนที่พึ่งตนเองได้และสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตโดยใช้ภาษาต่างประเทศเป็นเครื่องมือในการค้นคว้าหาความรู้ในการเรียนสาระการเรียนรู้อื่นๆ  การศึกษาต่อรวมทั้งการประกอบอาชีพ

3.  คุณภาพของผู้เรียน

                หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ได้กำหนดให้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศเป็นสาระการเรียนรู้ที่เสริมสร้างพื้นฐานความเป็นมนุษย์  และสร้างศักยภาพในการคิดและการทำงานอย่างสร้างสรรค์  เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตรงตามจุดหมายของหลักสูตรอันเป็นคุณภาพความคาดหวังของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

                การที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดคุณภาพได้ตามที่คาดหวังดังกล่าว  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดองค์ความรู้  ทักษะหรือกระบวนการ และคุณธรรม  จริยธรรม  ค่านิยมที่ผู้เรียนพึงมีเมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐานไว้ดังนี้

 

                ช่วงชั้นที่ 3 ( จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 )

  1. เข้าใจและใช้ภาษาต่างประเทศ  แลกเปลี่ยน  นำเสนอข้อมูล ข่าวสาร  สร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  แสดงความรู้สึกนึกคิด  และความคิดรวบยอด  โดยใช้น้ำเสียง  ท่าทางในรูปแบบที่เหมาะสมกับบุคคลและกาลเทศะ
  2. มีทักษะในการใช้ภาษาต่างประเทศในการฟัง – พูด – อ่าน – เขียน  ในหัวข้อเรื่องเกี่ยวกับตนเองครอบครัว  โรงเรียน  สิ่งแวดล้อม  อาหาร  เครื่องดื่ม  ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  เวลาว่าง  และสวัสดิการ  การซื้อขาย  ลมฟ้าอากาศ  การศึกษาและอาชีพ  การเดินทางท่องเที่ยว  ภายในวงคำศัพท์ประมาณ  2,100-2,250คำ
  3. ใช้ประโยคผสม ( Compound  Sentence )  และประโยคซับซ้อน ( Complex  Sentence ) สื่อความตามบริบทต่าง ๆ ในการสนทนาทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
  4. อ่าน  เขียน  ข้อความที่เป็นความเรียงและไม่เป็นความเรียง  ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการที่มีตัวเชื่อมข้อความ (  Discourse  Makers )
  5. มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางภาษาและชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้าของภาษาตามบริบทของข้อความที่พบในแต่ละระดับ
  6. มีความรู้  ความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศ  สืบค้นข้อมูลความรู้ในกลุ่มสาระการเรียน รู้อื่นๆ ที่เรียนตามความสนใจและตามระดับชั้น
  7. ฝึกฝนการใช้ภาษาต่างประเทศทั้งในและนอกโรงเรียน  เพื่อการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องหาความเพลิดเพลินและเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ

 

              ช่วงชั้นที่ 4 (จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6)

1. เข้าใจและใช้ภาษา ต่างประเทศในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร สร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แสดงความรู้สึกนึกคิด แสดงความคิดรวบยอดในเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษา งานอาชีพ ชุมชนและสังคมโลกในรูปแบบที่เหมาะสมกับบุคคลและกาลเทศะ

2. มีทักษะในการใช้ภาษาต่างประเทศในการฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ในหัวข้อเรื่องเกี่ยวกับตนเองครอบครัว โรงเรียน สิ่งแวดล้อมอาหาร เครื่องดื่ม ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เวลาว่างและสวัสดิการ การซื้อขาย ลมฟ้าอากาศ การศึกษาและอาชีพ การเดินทางท่องเที่ยว การบริการ สถานที่ ภาษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ภายในวงคำศัพท์ประมาณ 3,600-3,750 คำ (คำศัพท์ที่มีระดับการใช้แตกต่างกัน)

3. ใช้ประโยคผสม (Compound Sentence) และประโยคซับซ้อน (Complex Sentence) สื่อความหมายตามบริบทต่างๆ ในการสนทนาทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

4. อ่าน เขียนข้อความที่เป็นความเรียงและไม่เป็นความเรียง ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการที่มีตัวเชื่อมข้อความ (Discourse Markers)

5. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางภาษา และชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้าของภาษา ตามบริบทของข้อความที่พบในแต่ละระดับชั้น และสามารถนำไปใช้ได้เหมาะสมกับกาลเทศะ

6. มีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศ สืบค้นข้อมูลความรู้ในสาระการเรียนรู้อื่นๆที่เรียน ตามความสนใจและระดับชั้น จากสื่อที่หลากหลาย

7. ฝึกฝนการใช้ภาษาต่างประเทศทั้งในและนอกโรงเรียน เพื่อการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง หาความเพลิดเพลินและเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ

 

4.  วิสัยทัศน์

                การจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความคาดหวังว่าเมื่อผู้เรียนเรียนภาษาต่างประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา  ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อภาษาต่างประเทศ  สามารถใช้ภาษาต่างประเทศสื่อสารในสถานการณ์ต่างๆ แสวงหาความรู้ประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นรวมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องทักษะกระบวนการคุณธรรมจริยธรรม  ค่านิยมและวัฒนธรรมอันหลากหลายของประชาคมโลก  สามารถถ่ายทอดความคิดและวัฒนธรรมไทยไปยังสังคมโลกได้อย่างสร้างสรรค์

 

5.  โครงสร้างของหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ

โครงสร้างของหลักสูตรภาษาต่างประเทศ กำหนดตามระดับความสามารถทางภาษา และพัฒนาการของผู้เรียน (Proficiency-Based) เป็นสำคัญ โดยจัดแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ

1) ช่วงชั้น ปี 1-3 ระดับเตรียมความพร้อม (Preparatory Level)

2) ช่วงชั้น ปี 4-6 ระดับต้น (Beginner Level)

3) ช่วงชั้น ม. 1-3 ระดับกำลังพัฒนา (Developing Level)

4) ช่วงชั้น ม. 4-6 ระดับก้าวหน้า (Expanding Level)

 

6.  องค์ประกอบของหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ

     6.1  สาระ ( Strand )

สาระของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ หมายถึง องค์ความรู้ที่เป็นสากลสำหรับผู้เรียนภาษาต่างประเทศ ประกอบด้วย สาระด้าน ภาษาเพื่อการสื่อสาร ภาษาและวัฒนธรรม ภาษากับความสัมพันธ์กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น และภาษากับความสัมพันธ์กับชุมชนโลก

สาระที่ 1 ภาษาเพื่อการสื่อสาร (Communication) หมายถึง การใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อทำความเข้าใจ แลกเปลี่ยน นำเสนอข้อมูล ข่าวสาร แสดงความคิดเห็น เจตคติ อารมณ์ และความรู้สึกในเรื่องต่างๆ ทั้งที่เป็นภาษาพูดและภาษาเขียน

สาระที่ 2 ภาษาและวัฒนธรรม (Cultures) หมายถึง ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ พฤติกรรมทางสังคม ค่านิยม และความเชื่อที่แสดงออกทางภาษา

สาระที่ 3 ภาษากับความสัมพันธ์กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น (Connections) หมายถึง ความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศในการแสวงหาความรู้ที่สัมพันธ์กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น

สาระที่ 4 ภาษากับความสัมพันธ์กับชุมชนและโลก (Communities) หมายถึง ความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศภายในชุมชน และเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพและการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

มาตรฐานการเรียนรู้

มาตรฐานการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ หมายถึง ผลการเรียนรู้ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน เป็นมาตรฐานกลาง ซึ่งเป็นกรอบด้าน ความรู้ ทักษะกระบวนการ และคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่สถานศึกษาสามารถนำไปปรับและพัฒนาเพื่อกำหนดเป็นผลการเรียนรู้ในหลักสูตรสถานศึกษา มาตรฐานการเรียนรู้เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของผู้เรียนอันจะนำไปสู่การจัดกระบวนการเรียนรู้และการวัดประเมินผลการเรียนรู้แบ่งออกเป็น 8 มาตรฐานตามสาระทั้งสี่ดังต่อไปนี้

 

สาระที่ 1  ภาษาเพื่อการสื่อสาร

                    มาตรฐาน ต 1.1 : เข้าใจกระบวนการฟังและการอ่าน สามารถตีความเรื่องที่ฟัง และอ่านจาก

สื่อประเภทต่างๆ และนำความรู้มาใช้อย่างมีวิจารณญาณ

                    มาตรฐาน ต 1.2 :  มีทักษะในการสื่อสารทางภาษาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร แสดงความรู้สึก และความคิดเห็นโดยใช้เทคโนโลยีและการจัดการที่เหมาะสมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

                    มาตรฐาน ต 1.3 :  เข้าใจกระบวนการพูด การเขียน และสื่อสารข้อมูล ความคิดรวบยอด และ

ความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ได้อย่างสร้างสรรค์มีประสิทธิภาพและมีสุนทรียภาพ

 

สาระที่ 2  ภาษาและวัฒนธรรม

                 มาตรฐาน ต 2.1 :  เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับวัฒนธรรมของเจ้าของภาษาและนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสมกับกาลเทศะ

                มาตรฐาน ต 2.2 :  เข้าใจความเหมือนและความแตกต่างระหว่างภาษาและวัฒนธรรมของเจ้าของภาษากับภาษาและวัฒนธรรมไทย และนำมาใช้อย่างมีวิจารณญาณ

 

สาระที่ 3  ภาษากับความสัมพันธ์กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น

                    มาตรฐาน ต 3.1 : ใช้ภาษา ต่างประเทศในการเชื่อมโยงความรู้กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นและเป็นพื้นฐานในการพัฒนาและเปิด โลกทัศน์ ของตน

 

สาระที่ 4     ภาษากับความสัมพันธ์กับชุมชนและโลก

                    มาตรฐาน ต 4.1 :  สามารถใช้ภาษา ต่างประเทศตามสถานการณ์ต่างๆ ทั้งในสถานศึกษา ชุมชนและสังคม

                    มาตรฐาน ต 4.2 :  สามารถใช้ภาษา ต่างประเทศเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ การศึกษาต่อการประกอบอาชีพ การสร้างความร่วมมือ และการอยู่ร่วม กันในสังคม


ตัวชี้วัด

ตัวชี้วัดรายวิชา อ 22101 – อ 22102 ภาษาอังกฤษพื้นฐาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2

 

 

1.ใช้คำขอร้อง คำแนะนำ คำชี้แจง และคำอธิบายตามสถานการณ์ง่าย ๆ ที่ฟังและอ่าน พร้อมทั้งปฏิบัติตามได้

2. อ่านออกเสียงข้อความ ข่าว ประกาศ และบทร้อยกรองสั้น ๆ ถูกต้องตามหลักการอ่าน พร้อมทั้ง เปรียบเทียบ อธิบายความเหมือนและความแตกต่างระหว่างการออกเสียงประโยคชนิดต่าง และการลำดับคำตามโครงสร้างของประโยคของภาษาต่างประเทศและภาษาไทย

3.  ระบุ/เขียนประโยค และข้อความให้สัมพันธ์กับสื่อที่ไม่ใช่ความเรียงรูปแบบต่าง ๆ ที่อ่าน

4.  พูดและเขียนสรุปใจความสำคัญ/แก่นสาระ หัวข้อเรื่อง (topic) บอกรายละเอียดสนับสนุน(supporting detail)   และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ฟังและอ่าน ข่าว/เหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจของสังคม พร้อมทั้งให้เหตุผลและยกตัวอย่างง่าย ๆ ประกอบ

5.  สนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง เรื่องต่างๆใกล้ตัว  แสดงความต้องการ เสนอและให้ความช่วยเหลือ ตอบรับและปฏิเสธ ในสถานการณ์ต่าง ๆ  อย่างเหมาะสม

6.  พูดและเขียนเพื่อขอและให้ข้อมูล บรรยายเกี่ยวกับตนเอง กิจวัตรประจำวัน ประสบการณ์ ข่าวเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้ฟังหรืออ่าน แสดงความรู้สึกและความคิดเห็นพร้อมทั้งให้เหตุผลประกอบอย่างเหมาะสม

7.   ใช้ภาษาสื่อสารในสถานการณ์จริง/ สถานการณ์จำลองที่เกิดขึ้นในห้องเรียน สถานศึกษาและชุมชน โดยใช้ภาษา น้ำเสียง กิริยาท่าทางเหมาะกับบุคคลและโอกาสตามมารยาทสังคมและวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา

8.  อธิบายเกี่ยวกับเทศกาลวันสำคัญ ชีวิตความเป็นอยู่และประเพณีของเจ้าของภาษาพร้อมทั้งเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมของเจ้าของภาษากับของไทย

9. ใช้ภาษาต่างประเทศในการสืบค้น/ค้นคว้า รวบรวมและสรุปข้อมูล ความรู้ ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ และนำเสนอด้วยการพูด/การเขียน ในการศึกษาต่อและการ  ประกอบอาชีพ

10. เข้าร่วม/จัดกิจกรรมทางภาษาและวัฒนธรรมตามความสนใจ  แล้วเผยแพร่/ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเป็นภาษาต่างประเทศ

 

อัตราส่วนคะแนน  : จุดประสงค์  60 ,ชิ้นงาน 10, กลางภาค 15 , ปลายภาค 15        รวม  100    คะแนน

-การประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียนสื่อความ   100    คะแนน

-การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์                     100    คะแนน

 รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ,ซื่อสัตย์สุจริต , ใฝ่เรียนรู้  ,มุ่งมั่นในการทำงาน  , มีจิตสาธารณะ