นาฏศิลป์ไทย

ธรรมชาตินาฏศิลป์ไทย

       นาฏศิลป์ไทย หมายถึงการฟ้อนรำของไทยที่มีลีลาท่ารำ การแต่งกาย และวิธีการแสดงที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย ซึ่งต้องใช้กิริยาท่าทางการฟ้อนรำบ่งบอกความหมายด้วยลีลาท่ารำที่ถูกหลักวิชานาฏศิลป์ไทย  ดังนั้นธรรมชาติของนาฏศิลป์ไทยคือการปฏิบัติท่ารำที่สวยงาม  ถูกต้องตามหลักวิชานาฏศิลป์ไทย   ซึ่งต้องผ่านกระบวนการฝึกหัดจากครูสู่ศิษย์และต้องฝึกหัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา ผลจากการฝึกหัดจะมีประโยชน์ต่อผู้เรียนในหลายด้าน ดังนี้
      1. ความเชื่อมั่นในตนเองและกล้าแสดงออก ดังได้กล่าวข้างต้นแล้วว่าธรรมชาติของนาฏศิลป์ไทย  คือการฝึกทักษะการรำอย่างต่อเนื่อง และถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อมีการฝึกหัดก็ต้องมีการลงมือฝึกปฏิบัติทักษะด้วยตนเอง การฝึกทักษะอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเป็นการฝึกความกล้าแสดงออกให้กับผู้เรียน  และเมื่อผู้เรียนกล้าทำแล้วในกระบวนการเรียนการสอนจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ได้ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นการฝึกให้กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าคิดกล้าทำด้วยความมั่นใจมากขึ้น และเมื่อไปแสดงนาฏศิลป์ไทยในที่ใดก็จะแสดงออกด้วยความมั่นใจ และภาคภูมิใจ
      2. ความอ่อนน้อมถ่อมตน  การเรียนการสอนนาฏศิลป์ไทย จะเป็นการฝึกหัดอย่างต่อเนื่องยาวนานในระบบการเรียนการสอน  เป็นการเลียนแบบครูผู้สอนโดยตรง  ครูผู้สอนจะคอยดูแลจัดท่ารำให้สวยงาม  ดังนั้นระหว่างผู้เรียนและผู้สอนจะมีความสัมพันธ์กันใกล้ชิด  ผู้สอนจะคอยอบรมบ่มนิสัย  ใช้ความเมตตากรุณาแก่ศิษย์  ศิษย์ก็จะตอบแทนโดยการตั้งใจเรียน  รับใช้ครูอาจารย์ด้วยความเต็มใจ  ระบบการเรียนการสอนแบบนี้เป็นการกล่อมเกลาให้ผู้เรียนมีความอ่อนน้อมเคารพผู้ใหญ่ และเป็นคุณลักษณะที่ดีปลูกฝังติดตัวผู้เรียนไป ในขณะเดียวกัน ผู้เรียนจะรำสวยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับพรสวรรค์  และการฝึกหัดที่ต้องผ่านกระบวนการกล่อมเกลา  และแก้ไขท่ารำให้สวยงาม ดังนั้นครูผู้สอนจึงมีส่วนอย่างมากในการที่จะช่วยให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ ผู้เรียนจึงมีความเคารพ ครูผู้สอน และจะอ่อนน้อมต่อครูผู้สอนด้วยระลึกถึงบุญคุณครู  จึงกล่าวได้ว่ากิจกรรมการเรียนการสอนนาฏศิลป์จะช่วยปลูกฝังให้ผู้เรียนเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน  และมีความอดทนต่อความเหน็ดเหนื่อยในการฝึก
      3.  เคารพผู้อาวุโส  ในการเรียนการสอนวิชานาฏศิลป์ไทยจะช่วยปลูกฝังให้ผู้เรียนรู้จักเคารพผู้อาวุโสกว่า  เนื่องจากระบบการเรียนการสอนจะต้องผ่านการฝึกหัด ใช้กระบวนการกลุ่มช่วยเหลือเพื่อนๆ  ในกลุ่ม  หรือเมื่อมีกิจกรรมการแสดงก็จะให้รุ่นพี่ช่วยดูแลรุ่นน้อง เช่น  ช่วยฝึกซ้อมให้  แต่งตัวให้  ในลักษณะการทำงานแบบนี้รุ่นน้องจะใกล้ชิดกับรุ่นพี่  ขอคำปรึกษาและฝึกหัดรำกับรุ่นพี่  รุ่นพี่ก็จะช่วยดูแลและช่วยครูในการฝึกให้รุ่นน้อง เกิดระบบที่ดีในการเรียนการสอน  รุ่นน้องก็จะเคารพรุ่นพี่  เมื่อพบกันก็จะไหว้ทำความเคารพและยอมรับซึ่งกันและกัน  ซึ่งถือว่าเป็นวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันที่ดี  และหากผู้เรียนสำเร็จไปแล้วก็จะได้นำไปใช้ในองค์กรต่าง ๆ  ได้
      4.  กิริยามารยาทงดงาม  ระบบการเรียนการสอนวิชานาฏศิลป์ไทยมีส่วนอย่างมากในการฝึกมารยาทไทย  เริ่มตั้งแต่การแต่งกาย  ผู้เรียนจะนุ่งผ้าโจงกระเบนในการเรียน  ซึ่งเป็นวิธีการนุ่งผ้าที่อนุรักษ์ความเป็นไทยและเพื่อความสะดวกในการเรียน  นอกจากนี้ในการเรียนการสอนผู้สอนจะฝึกมารยาทไทยในเรื่องการหมอบกราบ  การไหว้  การนั่ง  การเดิน  การยืน  การเดินผ่านผู้ใหญ่  ในขณะที่ผู้ใหญ่นั่งอยู่ก็จะย่อเข่าโน้มตัวลงมาด้วยกิริยาที่นุ่มนวลอ่อนช้อย  การพูดจาด้วยวาจาที่ไพเราะอ่อนหวาน  การที่ผู้ใหญ่นั่งอยู่จะมายืนค้ำไม่ได้  ควรนั่งคุกเข่าพูดคุยกับผู้ใหญ่ด้วยความเคารพ สิ่งนี้ผู้สอนได้ปลูกฝัง และฝึกให้ผู้เรียนเป็นประจำและย้ำเตือนเสมอ  ดังนั้นการเรียนนาฏศิลป์จะเป็นการส่งเสริมจริยธรรมไปด้วย
      5.  มีบุคลิกภาพที่ดี  การฝึกหัดนาฏศิลป์ไทยผู้เรียนจะเริ่มตั้งแต่การฝึกหัดเบื้องต้น  ดัดมือ ดัดลำแขน  ดัดตน  การทรงตัวนั่ง  ยืน  เดิน  การเคลื่อนไหวร่างกายด้วยลีลาที่งดงาม  จากการฝึกหัดผู้สอนจะจัดท่ารำให้สวยงาม  ไหล่ห่อก็จะถูกดัดไหล่ให้ตรง  เป็นต้น  วิธีการฝึกหัดดังกล่าวจะช่วยให้ผู้เรียนมีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น  มีรูปร่างสวยงาม สมส่วน  จะเดิน  จะพูดจาก็ดูดีมีมารยาทเป็นที่ยอมรับของสังคม
      6.  มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี   ผู้เรียนจะได้รับการปลูกฝังในด้านมนุษยสัมพันธ์กับบุคคลฝ่ายต่าง ๆ  เนื่องจากกิจกรรมทางนาฏศิลป์จะต้องมีองค์ประกอบต่าง ๆ  เช่น  ดนตรี  ฉาก  เวที  การแต่งกาย  การฟ้อนรำ  การประชาสัมพันธ์ที่ดีกับฝ่ายต่าง ๆ  เช่น  การเขียนบทกลอนมาใช้เป็นบทร้องประกอบการแสดง  ผู้เรียนจะต้องไปขอความอนุเคราะห์จากอาจารย์ภาษาไทย  ตรวจดูความสละสลวยของการใช้ถ้อยคำและการสัมผัสของคำในบทกลอนที่จะสื่อความหมายในโอกาสของงานนั้น ๆ  แล้วนำบทมาฝึกหัด  โดยขอความอนุเคราะห์จากครูนาฏศิลป์ตรวจสอบในท่ารำ  และปรึกษาเรื่องการแต่งกาย  นำบทมาปรึกษากับครูผู้สอนดนตรีให้บรรจุเพลงและขับร้องบรรเลงประกอบการแสดง  จัดเวทีประกอบการแสดง  ลักษณะการทำงานดังกล่าวเป็นการฝึกให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้ความสามารถและมนุษยสัมพันธ์ที่ดี  ซึ่งจะได้รับความร่วมมือที่ดี  งานจึงประสบความสำเร็จได้

 

 

 

 

 


0


wanwan

: ผู้ใช้ทั่วไป
ศิลปะ