คนไทยเชื้อสายรามัญ

          รู้จักสมุทรสาคร รู้จักคนไทยเชื้อสายมอญ (รามัญ) 
 
          “ หนึ่งน้องนางสวยแท้หนักหนา ผ่องโสภา วาจา อ่อนหวาน
เห็นเธอในหนึ่งคืนนั้นวันมาช่วยงาน   เหมือนบุญพาให้มาพบแม่นงคราญ
ได้ประสบพบพานสาวมอญ คนสวย บุญนี้คงช่วยไม่คลาดแคล้ว สาวมอญบ้านแพ้วสมุทรสาคร...”
           บทเพลงที่หลายต่อหลายคนอาจจะยังจำกันได้ “สาวมอญคนสวย” ผลงานเพลงที่ขับขานด้วยเสียงอันไพเราะของนักร้องระดับราชาลูกทุ่งไทย “ยอดรัก สลักใจ” ที่มอบผลงานเพลงนี้และบทเพลงอื่น ๆ ที่โด่งดังมากมายเมื่อเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้เขาจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ
           รกรากคนไทยเชื้อสายมอญของจังหวัดสมุทรสาครมาจากไหน?
ประเทศไทยมีผู้คนอาศัยอยู่เกือบ 60 กว่าล้าน ต่างมีวัฒนธรรมท้องถิ่น
ภาษาพูด สำเนียงที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละภาคจนเป็นเอกลักษณ์ที่คนไทยสำนึกและหวงแหนในสิ่งเหล่านั้นที่บรรพบุรุษได้มอบไว้ให้ลูกหลานได้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งนี้ชุมชนที่จะกล่าวถึงด้วยความภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาใต้ร่มพระบารมีของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินนับแต่สยามประเทศจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ยังมีผู้คนเกือบร้อยละ 100 ที่ดำรงไว้ในความเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ (รามัญหรือชาวมอญ) 
           ที่สำคัญปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มความเป็นเอกลักษณ์ให้กับจังหวัดเล็ก ๆ ที่อยู่ติดกับปากอ่าวไทยชั้นใน นั่นก็คือ จังหวัดสมุทรสาคร (ที่หลายคนมักจำสับสนกับจังหวัดสมุทรสงครามหรือไม่ก็จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นจังหวัดสุดท้ายตามแผนที่ที่กำลังจะเผชิญกับภัยน้ำหลากทั้งน้ำเหนือและน้ำทะเล) ยุคแรก ๆที่ผู้คนไทยเชื้อสายมอญ ได้อพยพกันมาผ่านทางด่านเจดีย์สามองค์ (ที่รู้จักกันดีในสมัยพงศาวดารซึ่งปัจจุบันขึ้นอยู่กับจังหวัดกาญจนบุรี) หลังจากถูกพม่าต้อนจากบ้านก๊ะมะกวัก (จังหวัดหนึ่งในประเทศพม่าสมัยตอนนั้น) เข้ามาอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ชุมชนดั้งเดิมของจังหวัดเรียก “มอญปากลัด” ก็เริ่มมาตั้งถิ่นฐานกระจายกันอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน แถบตำบลมหาชัย ตำบลบ้านเกาะและตำบลท่าทราย ในปัจจุบัน ชาวไทยเชื้อสายมอญมีการ ประกอบอาชีพตามสภาพท้องถิ่นและภูมิศาสตร์หลากหลายกันไปตามความสะดวกและเอื้อเฟื้อสมานฉันท์กันมากจนแตกเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้น
           ในแถบอำเภอเมืองนั้นชุมชนคนไทยเชื้อสายมอญก็ตั้งรกรากอาศัยอยู่แถวตำบลบ้านเกาะ ตำบลท่าทราย ตำบลท่าจีน ตำบลบางกระเจ้า ตำบลบ้านบ่อ ตำบลบางโทรัด ตำบลกาหลง ส่วนที่อำเภอบ้านแพ้วจะอยู่ที่ตำบลเจ็ดริ้ว ตำบลหลักสอง ตำบลบ้านแพ้ว ตำบลอำแพง เป็นต้น
          
     อาชีพหลักหรือภูมิปัญญาของคนไทยเชื้อสายมอญเป็นอย่างไร?            
      เนื่องจากในแถบอำเภอเมืองของจังหวัดสมุทรสาครมีภูมิศาสตร์ที่ติด
กับทะเล(ปากอ่าไทยชั้นใน)และมีแม่น้ำท่าจีนซึ่งต้นน้ำมาจากอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมไหลผ่านแบ่งพื้นที่เป็นสองฝั่งแม่น้ำ ลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่ม ป่าดินเลน มีความอุดมสมบูรณ์คนไทยเชื้อสายมอญจึงรู้จักปรับและดัดแปลงความเป็นอยู่จนก่อให้เกิดภูมิปัญญาของคนไทยเชื้อสายมอญมากมาย จากที่เป็นป่าชายจึงมีต้นไม้หลายชนิดที่ขึ้นได้เฉพาะในน้ำกร่อยและน้ำเค็มเช่น กระบูน แสม ลำพู โกงกาง ต้นเตย ต้นจาก ตีนเป็ด บริเวณสองฝั่งแม่น้ำในยุคแรกนั้นจึงนิยมทำอาชีพตัดฟืน ใบต้นจากคนไทยเชื้อสายมอญจะนำไปม้วนหรือห่อข้าวต้มมัด เรียก ข้าวต้มลูกโยน การห่อนั้นคนรุ่นใหม่นั่งดูเหมือนง่ายแต่พอลงมือทำ ใช้เวลาพอสมควรรูปแบบเมื่อห่อแล้วจะมีหางหรือส่วนปลายไว้ยาว ๆ ง่ายต่อการหยิบออกจากหม้อนึ่ง หรือไว้โยนในพิธีตักบาตรข้าวต้มลูกโยนช่วงเข้าพรรษาที่พระสงฆ์พายเรือรับบาตรตามแม่น้ำ อาชีพดังกล่าวอยู่คู่คนไทยเชื้อสายมอญมาจนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะในแถบอำเภอเมืองสามารถสร้างฐานะความเป็นอยู่ที่ดีและเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ ในชุมชนจนได้ส่งลูกหลานเล่าเรียนสำเร็จการศึกษาในระดับสูง ๆ และกลายเป็นธุรกิจขนาดย่อมในการส่งขายจากตับทั่วประเทศไปแล้ว
           นอกจากนั้นด้านภูมิปัญญาการเรียนรู้และดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นอยู่แล้วก็มีหลากหลายเช่นการรู้จักนำเปลือกกระบูนมาย้อมอวน แห สำหรับจับปลา ซึ่งมีคงทนของสี(ออกสีแดงน้ำตาบไหม้)และรักษาความเหนียวของอวนได้เป็นอย่างดี ภูมิปัญญาด้านงานจักสานหรือถักทอ ได้แก่ การนำต้นเตยน้ำเค็มและต้นกก มาทอเสื่อผืนใหญ่ ๆ (ภาษามอญเรียก ฮะกอวห์) กระบุง ตะกร้า หรือที่คนคนไทยเชื้อสายมอญเรียกว่า “ปร่อก” ซึ่งมีลักษณะกึ่งตะกร้ากึ่งกระเป๋า (ปัจจุบันหาคนสานหรือสืบทอดแทบจะไม่มีแล้ว)
            นอกจากนั้นก็มีการค้าขายตามความถนัด อาชีพเกษตรกรรมส่วนใหญ่อยู่ในแถบอำเภอบ้านแพ้ว เช่น ทำนา ทำนากุ้ง-นาปลา และทำสวนผักผลไม้เช่น สวนมะนาว สวนองุ่น สวนกล้วย สวนผัก เป็นต้น ส่วนอำเภอเมืองผลไม้ที่ขึ้นชื่อได้แก่ พุทรา จะมีรสชาติอร่อยกรอบกว่าพุทราจากพื้นที่แถบอื่น ๆ เพราะอำเภอเมืองของจังหวัดสมุทรสาครเป็น อาณาบริเวณลุ่มน้ำกร่อยจะทำให้พุทรามีรสชาติอมเปรี้ยวอมหวานอร่อยขึ้นชื่อ
           ความรุ่งเรืองด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายมอญเป็นอย่างไร?
          ร่องรอยเก่าแก่ในอดีตหลายอย่างในจังหวัดสมุทรสาครที่คนไทยเชื้อสายมอญที่เป็นเอกลักษณ์แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการทำนุบำรุงศาสนาและรวมไปถึงด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมตามแบบดั้งเดิมของคนไทยเชื้อสายมอญ ซึ่งมีสิ่งยึดเหนี่ยวด้านความศรัทรานับถือและเคร่งครัดในการปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธ ในจังหวัดสมุทรสาครมีวัดที่ทั้งพระสงฆ์และคนไทยเชื้อสายมอญได้อุปถัมภ์ดูแลสร้างให้เป็นศูนย์กลางที่จะร่วมสืบสานความเป็นวัดมอญหลายวัดด้วยกันที่ตั้งอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำท่าจีน สังเกตได้ว่าถ้าเป็นวัดที่ปฏิบัติตามสายแบบมอญจะมี “เสาหงส์” ตั้งอยู่สูงโดดเด่นเป็นสง่า “หงส์” เป็นเอกลักษณ์ของประเทศมอญในอดีต (ปัจจุบันเป็นรัฐมอญ ในประเทศพม่า)
             ในช่วงสงกรานต์จะมีการแห่หางหงส์เป็นประเพณีที่ชาวมอญตำบลบ้านเกาะ จัดขึ้นที่วัดเกาะและวัดบางปลา และวัดเจ็ดริ้ว ตำบลเจ็ดริ้วจัดเป็นประจำทุกปี การแห่หางหงส์ตามประวัติแต่โบราณนั้นเป็นประเพณีที่สืบทอดจากความเชื่อในการนับถือ ศาสนาพุทธของชาวมอญว่า ในอดีตกาลสมัย พระพุทธเจ้า นั้นมีเศรษฐีผู้หนึ่งได้ถวายภัตตาหารเครื่องอุปโภคบริโภค แด่ พระพุทธ เจ้า และพระ สาวก อย่างมากมาย ครั้นแล้วก็มีมานพยากจนผู้หนึ่ง เดินผ่านบ้านเศรษฐี ครั้นทราบ ว่า เศรษฐีทำบุญเช่นนั้น จึงเกิดความศรัทธาใคร่จะได้ทำบุญบ้าง แต่ด้วยความยากจนจึงไม่มีสิ่งใดที่จะทำบุญถวายพระพุทธเจ้าได้ จึงถอดเอาผ้าห่มกายของ ตนออก มาซักให้สะอาดแล้วนำไปผูกปลายไม้ และปักไว้พร้อมทั้ง ตั้งจิตบูชา ถวายพระพุทธเจ้า และด้วยอานิสงส์ครั้งนั้น มานพผู้ยากจนผู้นั้นเมื่อสิ้นชีวิตไป แล้วก็ได้ไปเกิด เป็นเศรษฐี หลายร้อยชาติ ตั้งแต่นั้นเมื่อถึงวันสงกรานต์ หรือปีใหม่ของชาวมอญ ชาวมอญที่มีฐานะร่ำรวย หรือมี ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็มักจะเป็นเจ้าภาพจัดทำหางหงส์มาแขวนที่เสาหงส์ หน้าวัดอัน เป็นสัญลักษณ์ ของวัดมอญทั่วไป ประเพณีแห่หางหงส์ จะเริ่มต้นที่เจ้าภาพหรือผู้สร้างหางหงส์ จัดเตรียมผ้าสี นำผ้ามา ตัดเย็บตกแต่งลายให้สวยงาม ด้านปลายหางหงส์จะนำเอาเส้นผมของตนเย็บติดไว้ เพื่อความเป็นสิริมงคล ในวันสงกรานต์ เจ้าภาพและญาติพี่น้อง ก็จะนำหางหงส์แห่ไปที่วัดนำไป แขวนไว้ที่เสาหงส์หน้าวัดเช่นนี้ทุกปี
          'ศิลปวัฒนธรรมมอญ'นั้น กลายเป็นศิลปวัฒนธรรมของพม่าไปหมด ศิลปวัฒนธรรมส่วนใหญ่นั้น พม่าได้รับไปจาก'มอญ' คือ 'ศิลปวัฒนธรรมมอญ' เช่น สถาปัตยกรรมแบบปรางค์ ขอมเขมร มีต่อสถาปัตยกรรมไทย ศิลปสถาปัตยกรรมประเภทเรือนยอด (กุฏาคาร) คือหลังคาที่มียอดแหลมต่อขึ้นไป โดยเฉพาะเรือนยอด (Spire) ทรงมณฑปแบบนี้ต่อมาไทยได้นำมาดัดแปลง      
          ดนตรีมอญ ได้แก่ ปี่พาทย์มอญ หรือปี่พาทย์นางหงส์ นิยมบรรเลงในงานศพ มีปราชญ์ทางด้านวงปี่พาทย์มอญหลายคณะได้สืบทอดกันมา ปัจจุบันสถานศึกษาในชุมชนคนไทยเชื้อสายมอญก็ได้สืบสานอนุรักษ์ในชั้นรุ่นหลานเหลนไว้หลายแห่งทั้งในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียง เช่น เขตบางขุนเทียนที่บางกระดี่ก็จะมีสมาคมไทยรามัญ ที่มีชุมชนคนไทยเชื้อสายมอญปรับเปลี่ยนแนวทางการนำเสนอดนตรีมอญให้ทันสมัยขึ้นอีกด้วย ไทยเองก็รับอิทธิพลจากเพลงมอญมา เช่น มอญดูดาว มอญชมจันทร์ มอญรำดาบ มอญอ้อยอิ่ง นอกจากนี้ก็ยังมีเพลงที่รู้จักกันดีในงานศพอีกคือ มอญร้องไห้ และยังมี'แขกมอญ' คือ ทำนองทั้งแขกทั้งมอญ เช่น แขกมอญบางขุนพรหม แขกมอญบางช้าง เป็นต้น เพลงทำนองของมอญ มีความสง่าภาคภูมิ เป็นผู้ดีมีวัฒนธรรม และค่อนข้างจะเย็นเศร้า ซึ่งเป็นลักษณะของผู้มีวัฒนธรรมสูง ย่อมสงวนทีท่าบ้างเป็นธรรมดา แต่ที่สนุกสนานก็มีบ้าง เช่น กราวรำมอญ มอญแปลง ฯ ส่วนเครื่องดนตรีให้จังหวะ คือ กลอง ที่เรียกว่าเปิงมาง นั้น คาดว่าเป็น'มอญ' ไทยเรานำมาผสมวง ทำคอกล้อม เป็นวงกลมหลายวง เรียกว่า เปิงมางคอก ตีแล้วฟังสนุกสนานรวมไปถึงการแสดง “ทะแยมอญ” คล้ายกับลำตัดไทย
              ภาษามอญ เป็นภาษาที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน ไม่มีการผันคำนาม คำกริยา ตามกฏบังคับทางไวยากรณ์ ประโยคประกอบด้วย คำที่ทำหน้าประธาน กริยา และกรรม ส่วนขยายอยู่หลังคำที่ถูกขยาย ในประเทศไทยเอง มีการใช้ภาษามอญสื่อสารในชุมชนมอญแต่ละชุมชนในจังหวัดต่างๆ และมีสำเนียงเฉพาะที่แตกต่างไป โดยในบางชุมชนมีการสอนลูกหลานให้พูดภาษามอญกัน จังหวัดสมุทรสาครก็มีชาวมอญจากประเทศพม่าที่อพยพเข้ามาเป็นแรงงานต่างด้าวในจังหวัด ซึ่งได้นำภาษาพูดและภาษาเขียนกลับเข้ามาในชุมชนมอญแถบมหาชัยอีกครั้งหนึ่ง ทำให้มีการใช้ภาษามอญ รวมไปถึงป้ายข้อความภาษามอญให้พบเห็นโดยทั่วไป
              การแต่งกายของคนไทยเชื้อสายมอญ การแต่งกายของชาย ชาวมอญ สวม เกลิด(ผ้านุ่ง)มักเห็นเป็นสีแดง ส่วนผ้าผืนยาวนุ่งเวลาออกงานสำคัญคือ เกลิดฮะเหลิ่น (ผ้านุ่งยาวลอยชาย) ส่วนเสื้อ เป็นเสื้อคอกลมผ่าอก ตลอดแขนกระบอก มีกระดุมผ้า หรือเชือกผูกเข้ากัน สมัยก่อนนิยมโพกศีรษะ ต่อ มาตัดสั้น แบบสมัยนิยม การแต่งกายของหญิงมอญ สวมหนิ่น(คล้ายผ้านุ่งของผู้ชาย) แต่มีลายละเอียด สวยงามกว่า และวิธีการนุ่งต่างกัน สวมเสื้อ ตัวในคอกลมแขนกุดตัวสั้นแค่เอว เล็ก พอดีตัว สีสด สวมทับด้วยเสื้อแขนยาวทรงกระบอก เป็นผ้าลูกไม้เนื้อบาง สีอ่อน มองเห็น เสื้อตัวใน ถ้ายังสาวอยู่ แขนเสื้อจะยาวถึงข้อมือ หากมีครอบครัวแล้ว จะเป็นแขนสามส่วน หญิงมอญนิยมไว้ผมยาวและเกล้าผมมวยทรงต่ำลงมาทางด้านหลัง โดยมีเครื่องประดับ ๒ ชิ้น บังคับ ไม่ให้ผมมวยหลุดเป็นโลหะรูปตัวยูคว่ำแคบๆ และรูปปีกกาตามแนวนอน มอญเรียกว่า อะน่ดโซ่ก และฮะเหลี่ยง โซ่ก(ผม) ประดับตามด้วย “แหมะเกวี่ยปาวซ่ก“ รอบมวยผม สิ่งสำคัญของคนมอญเมื่อเข้าวัด คือผ้าสไบ เรียกว่า หยาดห่ะเหลิ่มโต๊ะ ใช้ได้ทั้งชายหญิง แต่ชายสูงอายุมักใช้ผ้าขาวม้า วิธีห่ม คือ พาดจากไหล่ซ้ายไปด้านหลัง อ้อมใต้รักแร้ ขวา แล้วขึ้นไปทับบนไหล่ซ้าย หากไปงานรื่นเริง เที่ยวเล่น ก็ใช้คล้องคอแทน หรือพาด ลงมาตรงๆ บนไหล่ซ้าย
          ในปัจจุบันที่อำเภอบ้านแพ้วยังรักษาสืบทอดกันซึ่งสนนราคาอยู่ประมาณ 300 – 500 บาทต่อผืน มีเอกลักษณ์เฉพาะ ทำด้วยผ้าโทเร สีสด ความกว้างประมาณ 80 เซนติเมตร ยาว 2.50 เมตร ริมทั้ง 4 ด้านจะตัดเป็นโค้งหยักตามแนวตรงของแต่ละด้าน ปักด้วยด้ายสีสด ใช้สดึงตรึงให้แน่นเป็นระเบียบมีลายดาวและดอกไม้ตลอดผืนสวยงาม 

          ความเชื่อและการนับถือผีตามแบบมอญมีที่มาอย่างไร?
          จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่เรื่องความเชื่อถือผีของคนไทยเชื้อสายมอญในชุมชนตำบลเจ็ดริ้วได้ยึดถือสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษเนื่องมาจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล ดังนี้ มีครอบครัวหนึ่งเมื่อบิดาสิ้นชีวิตแล้ว ยังเหลือมารดาและบุตรชายคนหนึ่ง บุตรของนางเป็นคนขยันงานการทุกอย่าง วันหนึ่งมารดา ไปได้สู่ขอ หญิงสาวคนมาเป็นภรรยา แต่หญิงนั้นเป็นหมันไม่สามารถมีบุตรสืบตระกูลได้ มารดา จึงได้คุยกับลูกชายว่า จะนำหญิงสาวคนอื่นมาเป็นภรรยาของเขาอีก หญิงหมันได้ยินเช่นนั้น จึงคิดว่า ถ้าไปสู่ขอหญิงอื่นมาให้จริง ภรรยาใหม่ต้องเบียดเบียนเราและใช้อย่างทาส เราจะจัดการหาหญิงสาวด้วยตัวเราเองดีกว่า จึงได้ไปยังตระกูลหนึ่งชี้แจงเรื่องราวให้ทราบ และได้สู่ขอหญิงสาวมาให้สามี เพื่อหวังจะให้สามีและภรรยาใหม่มีบุตรสืบตระกูลต่อไป ต่อมาภรรยาใหม่ตั้งครรภ์ หญิงหมันเอายาผสมอาหารให้กินเพื่อให้ทารกในครรภ์แท้ง เมื่อนางตั้งท้องครั้งที่ 2 ก็ได้ทำเช่นเดียวกัน พอครั้งที่ 3 ครรภ์แก่มากไม่อาจแท้ง ทารกนอนขวางท้องนางได้รับ ทุกขเวทนาอย่างหนัก จนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ก่อนสิ้นชีวิตได้ตั้งความปรารถนา ไว้ว่า “เราถูกหญิงหมันทำลายทารกถึง 3 ครั้ง เมื่อตายไปขอเกิดเป็นยักษิณีจะได้เคี้ยวกินทารก ของมันบ้าง” เมื่อตายแล้วนางได้เกิดเป็นแมวในเรือนของหญิงหมันนั้น ฝ่ายหญิงหมันถูกสามีจับได้ว่าเป็นคนทำความชั่วดังกล่าว จึงถูกฆ่าให้ตายตกตามกันไป และได้เกิดเป็นแม่ไก่ในเรือนนั้นเช่นกัน และก็จองเวรกันไปทุกชาติอย่างไม่ลดละ กระทั่งชาติหนึ่งที่ภรรยาใหม่ไปเกิดเป็น ยักษิณี ส่วนหญิงหมันเกิดเป็นหญิงสาวในตระกูลหนึ่งในเมืองสาวัตถีเมื่อแต่งงานแล้วก็ได้ไปอยู่บ้านของสามี ยักษิณีก็จับลูกของหญิงสาวกินไป 2 ครั้ง พอหนที่ 3 ได้พูดกับสามีว่าจะกลับไปคลอดลูกที่บ้านเกิด ฝ่ายยักษิณี รู้ว่า เธอกลับไปคลอดลูกที่บ้านเกิด จึงได้ผูกเวรอย่างไม่ลดละ จึงได้วิ่งตรงไปที่บ้านของนางในทันที ขณะนั้นนางกำลังยืนให้นมลูกอยู่ พอเห็นนางยักษิณีก็จำได้ จึงวิ่งมุ่งหน้าเข้าไปภายในพระวิหาร พระพุทธเจ้า กำลังแสดงธรรมอยู่ เมื่อยักษิณีได้ฟังพระพุทธเจ้าดำรัสดังกล่าวแล้วก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลไม่คิดจะกินบุตร ของนางอีก งดจองเวร ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระพุทธองค์ได้ตรัสสั่งให้หญิงสาวพายักษิณีไปสู่เรือนให้บำรุงเลี้ยงด้วยข้าวต้ม ข้าวสวย อย่างดี เธอได้ปฏิบัติเช่นนั้น เมื่อยักษิณีได้รับความเอาใจใส่อย่างดีจึงระลึกถึง อุปการคุณงาม ความดีของเธอ คิดหาหนทางตอบแทนคุณโดยบอกให้ทราบในแต่ละปีว่า” ปีนี้ฝนดี จงปลูกข้าวกล้า ที่ดอนปีนี้ฝนแล้ง จงปลูกข้าวกล้าในที่ลุ่ม” เป็นต้นทำให้ได้ผลสมบูรณ์เต็มที่ ชาวบ้านจึงได้ถามถึงสาเหตุ เธอได้ชี้แจงว่า ยักษิณีบอก ถ้าพวกท่านนำโภชนะมีข้าวต้มข้าสวยอย่างดีไปให้แล้ว เขาคงจะคุ้มครองแลดูการงานของพวกท่านเช่นกัน ตั้งแต่นั้นมาชาวเมืองทั้งหลายได้พากันสักการะยักษิณีจึงมีลาภสักการะและมีคนเคารพนับถือมาก การนับถือผีของแต่ละตระกูลก็มีสัญลักษณ์ที่จะเคารพตามความเชื่อแตกต่างกันไป เช่น การนับถือผีไก่ ผีเต่า เป็นต้น พิธีไหว้ผีจะมีผู้สืบทอดในครอบครัวที่จะทอดทิ้งหรือลบหลู่ไม่ได้เลย อาจถึงขั้นมีอันเป็นไปหรือคนในครอบครัวมีเหตุต้องเจ็บไข้ได้ป่วย โดยบุตรชายหัวปีกับบุตรชายสุดท้อง (ตามความเชื่อ) จะต้องรับทำพิธีกรรม “ รำผี ” หรือ “เลี้ยงผี” ทุก ๆ ปี หรืออาจะไปรวมกับบ้านที่นับถือเหมือนกันก็ได้เพื่อจะได้พบปะกันและประหยัดการใช้จ่ายในการเตรียมการ
                 คนไทยเชื้อสายมอญในจังหวัดสมุทรสาครยังพอจะมีแหล่งเรียนรู้ด้านบุคคลที่สำคัญทั้งทางสงฆ์และฆารวาสที่จะถ่ายทอดความรู้และวัฒนธรรมให้แก่ชนรุ่นลูกรุ่นหลานที่มีเชื้อสายมอญได้เรียนรู้ถึงรากเหง้าของตนอย่างมีสำนึกรู้ซึ่งข้าพเจ้าก็เป็นหนึ่งในคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ที่มีหัวใจและเลือดเนื้อจากเชื้อสายมอญ และหากสิ่งที่ข้าพเจ้าได้เผยแผ่และค้นคว้าเรื่อง “รู้จักสมุทรสาคร รู้จักคนไทยเชื้อสายมอญ(รามัญ)” ทั้งหมดนี้เป็นความดีที่ลูกหลานคนหนึ่งได้ทำตามความตั้งใจที่มีมานานแล้วก็ขอมอบแด่ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษทุกท่านอีกทั้งแด่ดวงวิญญาณของคุณพ่อบุญลือ ทองชิว ได้รับรู้และขอให้ทุกท่านที่ได้อ่านบทความนี้มีแต่ความสุขความเจริญทุกท่านเทอญ...
                              ๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙
ที่มา.นายธีระ ทรงลักษณ์ (การสัมภาษณ์ส่วนตัว, 7 พฤศจิกายน 2554) นายจำลอง เกลี้ยงมะ. (2554). ความรู้คู่ชาวมอญ. สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลเจ็ดริ้ว, สมุทรสาคร. ค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2554, จากเว็บไซด์: http://jedriew.freevar.com/home.html



           เรื่องที่ข้าพเจ้ามีความรู้และถนัดมากที่สุด คือ พูดภาษามอญ ความเป็นมา ข้าพเจ้าเกิดมาในครอบครัวที่ปู่-ย่ามีเชื้อสายมอญและตา-ยายมีเชื้อสายจีน ที่ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อน ๆ ที่รู้จักสนิทกันจะเรียก “ลูกสามกษัตริย์” และสิ่งที่ติดตัวมาด้านภาษานั้นหนักไปทางเชื้อสายมอญ เมื่อเริ่มพูดได้ตอนเป็นเด็กๆ นั้นอยู่กับครอบครัวทางปู่และย่าจึงพูดได้แต่ ภาษามอญ (จากเว็บไซด์ Wikiepedia : ลักษณะคำในภาษามอญ จะมีลักษณะเป็นคำพยางค์เดียว หรือสองพยางค์ ส่วนคำหลายพยางค์ เป็นคำที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาบาลีและสันสกฤต) จนประมาณ 4 – 5 ขวบ พ่อและแม่เห็นทีจะต้องให้พูดภาษาไทยบ้าง (พี่น้องทั้งหมด 5 คน พูดมอญได้อยู่ 2 คน คือพี่สาวคนโตกับข้าพเจ้า ส่วนคนอื่นโตมากับครอบครัวจนจีนเลยฟังออกบ้างไม่ออกบ้างจนถึงทุกวันนี้) จึงส่งข้าพเจ้าไปอาศัยอยู่กับครอบครัวทางตาและยายที่มีเชื้อสายจีน ซึ่งตากับยายฟังภาษามอญไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ ข้าพเจ้าจำความได้ว่านอนร้องไห้คิดถึงพ่อกับแม่พี่ ๆ และน้อง ๆ เกือบทุกคืน จนยายพูดภาษามอญล้อเลียนตอนโตได้และเล่าให้ฟังว่า ทุกคืนข้าพเจ้าจะร้องแต่คำว่า “อาเลียงฮ่อยห์อัว” แปลเป็นไทยก็คือ “หนูอยากกลับบ้าน” เมื่อคุ้นเคยกับเด็ก ๆ ย่านที่ไปอาศัยอยู่ก็เริ่มหัดพูดภาษาไทยแต่เป็นแบบสำเนียงมอญ ๆ
                ปัจจุบันถึงแม้ประเทศมอญจะไม่มีแล้วแต่ชุมชนมอญที่มาอาศัยอยู่ในชุมชนหรือจังหวัดสมุทรสาครยังมีการพูดภาษามอญกันอยู่ และตามข่าวจะทราบดีว่าจังหวัดสมุทรสาครมีคนงานต่างด้าวพม่าและมอญจำนวนมากทั้งที่เข้ามาถูกต้องตามกฎหมายหรือเลี่ยงกฎหมาย จนเพิ่มปริมาณมากขึ้น อีกทั้งหน้าตาก็ใกล้เคียงกับคนไทย ประกอบกับในปี พ.ศ.2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น จะมีการแลกเปลี่ยนหรือเสรีในการทำงานหรือเดินทางใน 10 ประเทศของสมาชิกอาเซียนและหนึ่งในประเทศนั้นจะมีพม่าที่มีชนชาวมอญเดินทางมาทำงานในเมืองไทยมากขึ้นโดยเฉพาะในตัวอำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสาคร หรือที่เรียกขานว่า “มหาชัย” นั้นมีทั้งตลาดแพกุ้ง แพปลาทะเลที่ต้องแรงงานจำนวนมาก ทำให้หน่วยงาน ห้างร้าน สถานศึกษา เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานต้องใช้ภาษามอญในการสื่อสาร รวมถึงข้อความต่าง ๆที่เป็นภาษามอญ เช่น วัด โรงพยาบาลชุมชนประจำตำบลหรือสถานีอนามัย โรงเรียนพยาบาล ร้านค้า ป้ายบอกทาง แหล่งท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น
                อีกประการหนึ่งถ้าสังเกตตามร้านค้าในตลาดมหาชัยส่วนใหญ่ปัจจุบันนิยมรับสมัครแต่สาวมอญหรือพม่ามากขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการตลาดหรือธุรกิจของร้าน (งานนี้เห็นสาวไทยในมหาชัยออกจะลำบากแล้ว) ใช้หลักการตลาดแบบตรงเป้าหมาย ก็เห็นจะเป็นจริงด้วยว่าทำให้การค้าขายคึกคักทุกวันแล้วถ้ามีโอกาสขึ้นรถประจำทางที่ตลาดมหาชัย จงตั้งสติว่ามีคนไทยจริง ๆ โดยสารมาด้วยประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น จะพูดอะไรเป็นภาษาไทยเขาก็ฟังเรารู้เรื่องหน้าตาก็ละม้ายกัน เดี๋ยวนี้เขาเก่งมากนะ นั่งเรียนในโรงเรียนของคนไทยเขาเรียนเก่งกว่าเด็กไทยมาก (โรงเรียนใกล้บ้านข้าพเจ้ามีนโยบายจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดสมุทรสาครรับเด็กจากคนงานต่างด้าวมาเรียนร่วมได้) ตามวัดวาอารามที่เปิดโอกาสให้คนมอญต่างด้าวบวชเรียนได้ ถ้านับกันทั้งวัดก็มีเจ้าอาวาสองค์เดียวที่เป็นคนไทย 
                 

ประวัติการแห่หงส์ธงตะขาบ 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


krutip

สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
คณิตศาสตร์