นาฏยศัพท์

นาฏยศัพท์

                 นาฏยศัพท์ หมายถึง ศัพท์ที่ใช้เกี่ยวกับท่ารำ เป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียกในวงการนาฏศิลป์ สามารถสื่อความหมายกันได้ทุกฝ่าย   การแสดงนาฏศิลป์หรือการฟ้อนรำนั้น      จะต้องเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้สอดคล้องกลมกลืนกันไม่ว่าจะเป็นศีรษะ แขน ขา มือ และเท้า   ซึ่งอวัยวะแต่ละส่วนปฏิบัตินาฏยศัพท์ได้ โดยเฉพาะถ้าผู้ศึกษาหรือผู้ดูรู้นาฏยศัพท์ก็จะช่วยให้เข้าใจ  และรู้จักลีลาท่ารำที่งดงามของนาฏศิลป์ เพราะผู้ที่รำได้งดงามก็คือผู้ที่ร่ายรำทำท่าทางได้ถูกลักษณะ ที่กำหนดไว้ตามนาฏยศัพท์นั้น ๆ การเรียนรู้นาฏยศัพท์จำเป็นที่จะต้องอาศัยการปฏิบัติประกอบด้วยจึงจะได้ผลดีที่สุด

นาฏยศัพท์เบื้องต้น ที่นักเรียนควรทราบ  มีดังนี้

 นาฏยศัพท์เกี่ยวกับมือ

1.  ตั้งวง
          ตั้งวงคือการยกลำแขนให้ได้ส่วนโค้งสูง ฝ่ามือแบเหยียดตรงทั้ง
4 นิ้ว นิ้วหัวแม่มือหลบเข้าหาฝ่ามือเล็กน้อย หักข้อมือเข้าหาลำแขนเสมอ วงแบ่งออกเป็นลักษณะต่าง ๆ  ดังนี้

1.1 วงบน   ตัวพระ   เป็นการตั้งวงให้ปลายนิ้วสูงระดับแง่ศีรษะ (ขมับ)  
                ตัวนาง    เป็นการตั้งวงให้ปลายนิ้วสูงระดับหางตา

1.2  วงกลาง  เป็นการตั้งวงให้ปลายนิ้วสูงระดับไหล่

1.3  วงล่าง  เป็นการตั้งวงให้ปลายนิ้วอยู่ระดับสะดือ

1.4  วงหน้า  เป็นการตั้งวงไปข้างหน้าให้ปลายนิ้วอยู่ระดับปาก

1.5  วงพิเศษ  เป็นการตั้งวงให้ปลายนิ้วสูงระดับแก้ม

2.  จีบ 
           จีบ คือการใช้นิ้วหัวแม่มือจรดกับข้อสุดท้ายของปลายนิ้วชี้  นิ้วที่เหลือกรีดออกให้ห่างกันให้มากที่สุด ต้องหักข้อมือเข้าหาลำแขนเสมอ  จีบแบ่งออกเป็นลักษณะต่าง ๆ  ดังนี้

2.1  จีบหงาย

2.2  จีบคว่ำ

2.3  จีบหลัง

2.4  จีบปรกข้าง

 2.5  จีบปรกหน้า

 3.  ม้วนมือ
         เป็นอาการของมือเนื่องมาจากจีบหงาย วิธีม้วนค่อย ๆ ปักจีบหงายลงล่าง แล้วคลายจีบเป็นตั้งวง ถ้าจะม้วนหลาย ๆ ครั้ง ให้กลับฝ่ามือเป็นจีบหงายแล้วม้วนมือขึ้นตามจังหวะ  กระทำต่อเนื่อง กันไปเรื่อย ๆ

4.  คลายมือ
         เป็นอาการของมือที่เดิมอยู่ในลักษณะจีบคว่ำ  แล้วค่อย ๆ  พลิกมือให้หงายขึ้น ขณะข้อมือเริ่มหงายให้คลายจีบออกช้า ๆ  จนมือแบหงายอยู่  ทำจังหวะที่ข้อมือคล้ายสลัดมือ  แล้วตั้งฝ่ามือขึ้น

5.  เดินมือ
         เป็นการย้ายมือที่ตั้งวง หรือมือที่จีบจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง

6.  หมดมือ
         ผู้รำไม่ว่าจะอยู่ในท่าไหนต้องรำให้หมดมือ เช่นในท่า พรหมสี่หน้า  เวลาจีบมือแล้วสอดขึ้นมานั้นมือที่จีบต้องแทงมือขึ้นให้ถึงที่หมายเสียก่อน แล้วจึงค่อยปล่อยมือที่จีบออกจากกัน ถ้าปล่อยมือออกจากกันในระหว่างที่แทงมือขึ้นมา เรียกว่ารำไม่หมดมือ

นาฏยศัพท์ที่เกี่ยวกับเท้า

1.  ก้าวเท้าหน้า 
         คือ  การวางฝ่าเท้าบนพื้นด้านหน้าเวลาก้าวเท้าลงไปนั้นต้องใช้ส้นเท้าจรดลงไปก่อน แล้วจึงเหยียบลงให้เต็มฝ่าเท้า  กะส้นเท้าที่วางอยู่ข้างหน้าให้ตรงกับหัวแม่เท้าข้าง หลังห่างประมาณคืบเศษ ขณะที่ก้าวเท้าออกไปข้างหน้าต้องเปิดปลายเข่า เท้าหลังเปิดส้นเท้าให้จมูกเท้ายันพื้นไว้ แล้วย่อเข่าลง ตัวพระกันเข่า ตัวนางหนีบเข่า หลักการก้าวเท้าคือโน้มลำตัวไปทางเท้าที่ก้าว

2.  จรดเท้า 
         เป็นอาการของเท้าข้างใดข้างหนึ่งที่วางอยู่ข้างหน้า การจรดเท้าน้ำหนักตัวจะอยู่ที่เท้า หลัง  เท้าหน้าจะใช้เพียงปลายจมูกเท้า (บริเวณเนื้อโคนนิ้วเท้า) จรดพื้นแล้วยกส้นเท้าขึ้นสูงพอประมาณ  ระวังไม่ให้ส้นเท้าสูงเกินไปจะทำให้ดูเหมือนเขย่งเท้า (การจรดเท้าในท่ารำใช้เพื่อยั้งจังหวะ)

3.  ประเท้า
         การประเท้า เป็นกิริยาของเท้าโดยเท้าหนึ่งยืนรับน้ำหนักอีกเท้ายืนเหลื่อมไว้ เปิดจมูกเท้าขึ้นพร้อมกับย่อเข่าลง ใช้จมูกเท้าตบพื้นเบา ๆ แล้วยกเท้าขึ้น เช่น การประเท้าพร้อมจะโบกในท่ารำแม่บท

4.  ยกเท้า
         ยกเท้า คือ การยกเท้าขึ้นไว้ข้างหน้า สืบเนื่องมาจากการประเท้า การยกเท้า              ทางนาฏศิลป์จะต้องเชิดปลายเท้าให้ตึง หักข้อเท้าเข้าหาลำขา สำหรับตัวพระจะต้องกันเข่าออกไปข้าง ๆ  ส่วนสูงของเท้าที่ยกอยู่ระหว่างเข่าข้างที่ยืน ตัวนางไม่ต้องกันเข่า ส่วนสูงของเท้าที่ยกอยู่ต่ำกว่าเข่าข้างที่ยืนเล็กน้อย  ต้องชักส้นเท้าและเชิดปลายนิ้วทั้งตัวพระและตัวนาง

5.  กระทุ้ง
         กระทุ้ง เป็นอาการของเท้าที่วางอยู่ข้างหลังด้วยจมูกเท้า กระทุ้งเพื่อจะยกขึ้นแต่เป็นการยกข้างหลัง  การกระทุ้งให้ใช้ส่วนของจมูกเท้าที่วางอยู่กับพื้น กระทุ้งเบา ๆ แล้วยกเท้าขึ้น นิ้วเท้า ทั้ง 5 ของเท้าที่กระทุ้งต้องอยู่ในลักษณะตึงและหักข้อเท้า

6.  กระดก
         กระดก เป็นอาการของการยกเท้าที่วางอยู่ข้างหลังสืบเนื่องจากการกระทุ้ง วิธีกระดกต้องยืนย่อเข่าข้างหนึ่ง แล้วถีบเข่าที่ยกไปข้างหลังมาก ๆ อย่าปล่อยให้เข่าที่ยกห้อยอยู่ใกล้เข่าข้างที่ยืน  กระดกลำขาส่วนล่างขึ้นให้น่องเข้าชิดท้องขาส่วนบน หักข้อเท้าลงให้ปลายเท้าชี้ลงด้านล่าง  ตัวพระกันเข่าออกข้าง ๆ ให้มาก ส่วนตัวนางเพียงแต่ดันเข่าไปข้างหลัง เรียกว่า “กระดกหลัง”  ถ้าย้ายส่วนขาที่กระดกมาข้าง ๆ เรียกว่า “กระดกเสี้ยว”

7.  ถอนเท้า
         การถอนเท้า โดยมากมักจะมาจากการที่จะต้องรำซ้ำเท้าหรือต้องการหันไปอีกด้านหนึ่ง  ลักษณะการถอนเท้า คือ การนำเท้าที่ยกมาวางหลังเท้าที่ยืนในระยะที่ติดต่อกันโดยไม่มีการประเท้า

8.  ย่อขา
         การย่อจะย่อขาไหนก่อนก็ได้ หรือจะย่อทีเดียวสองขาก็ได้  ตัวพระถ้าย่อสองขา ให้แยกเท้าทั้งสองห่างกันประมาณ 1 ฟุต ทำน้ำหนักตัวให้อยู่ตรงกลางแล้วงอเข่าลงพอประมาณ  ตัวนางไม่ต้องแยกเท้า เวลาย่อให้เข่าชิดกันพองาม  ถ้าจะย่อขาเดียวด้วยขาซ้าย ให้ยกขาขวาขึ้นในท่ายืน แล้วงอเข่าซ้ายพอประมาณ

 นาฏยศัพท์เบ็ดเตล็ด

เอียงศีรษะ
         การเอียงศีรษะต้องมีความรู้สึกว่าใบหูนั้นต้องอยู่ตรงกับหัวไหล่ และต้องประคองศีรษะให้คงที่ (อย่าเอียงลงมามากเกินไป)

 

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


wanwan

สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
ศิลปะ