การปฏิรูปการศึกษา

         การปฏิรูปหลักสูตรและการเรียนรู้ เป็นหัวใจสำคัญ ที่จะนำพาสู่การบรรลุเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษา อันจะส่งผลให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาได้สูงสุด สู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ   พ.ศ. 2542 ได้   และบทบัญญัติที่ว่าด้วยแนวการดำเนินการของหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ก็กำหนดชัดเจนในหมวด 4  ของ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาตินี้  กระทรวงศึกษาธิการโดยกรมวิชาการซึ่งเป็นแกนหลักโดยประสานความร่วมมือกับกรม  กอง  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้กำหนดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2544 ซึ่งประกาศใช้เมื่อ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2544   ที่ผ่านมา  เดือนพฤษภาคมของปีการศึกษา 2545 นี้ ได้เริ่มใช้หลักสูตรที่ประกาศใหม่ในโรงเรียนนำร่องและโรงเรียนเครือข่ายการใช้หลักสูตรฯ ประมาณ 2,000  โรงเรียน และในปีการศึกษา 2547 ทุกโรงเรียนในทุกสังกัดจำนวนประมาณ 40,000  โรงเรียน  จะเริ่มใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ครอบคลุม

จากการที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการพัฒนาสถานศึกษาที่เป็นนำร่องและเครืองข่ายการใช้หลักสูตรฯ และจากการติดตามการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่ทุกสถานศึกษาต้องจัดทำเป็นของตนเองโดยผู้เกี่ยวข้อมีส่วนร่วมนั้น โรงเรียนดำเนินการโดยยึดมาตรฐานของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นข้อกำหนดเชิงเป้าหมายหลักของประเทศ และโรงเรียนจะกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์และสาระการเรียนรู้เพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสมของท้องถิ่น  โดยกระบวนการดังกล่าว เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจทางการศึกษา  โดยมีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นระบบคุมให้เกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินการ ทั้งนี้ภาพสะท้อนจากการติดตามพบว่า สถานศึกษาที่เป็นโรงเรียนนำร่องและเครือข่ายฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมโดยพื้นฐานอยู่แล้วนั้นสามารถดำเนินการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาได้เป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม  เมื่อดูภาพรวมทั้งประเทศซึ่งมีสถานศึกษาอีกประมาณ 40,000 โรงเรียน  ที่มีสถานภาพความพร้อมที่หลากหลาย  ซึ่งจะต้องจัดทำและใช้หลักสูตรสถานศึกษา ตามหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐานฯ ในปีต่อ ๆ ไป  กระทรวงศึกษาธิการมีความตระหนักในสภาพดังกล่าวโดยได้พยายามดำเนินการในลักษณะต่าง ๆ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.2542  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา  27  วรรคแรก   ที่ว่าด้วยการกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานและสนับสนุนให้สถานศึกษาสามารถดำเนินการในมาตรา   27  วรรคสอง   คือการกำหนดสาระเพิ่มเติมที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นในหลักสูตรของสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพวิชาการขึ้น โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ดร.สิริกร  มณีรินทร์  เป็นประธานที่ปรึกษา  ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะกรรมการฯ  และมีคณะอนุกรรมการย่อยครบทั้ง  8  กลุ่มสาระการเรียนรู้กับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพวิชาการของกระทรวงฯ จะมีบทบาทในการสนับสนุน  ติดตามดูแลการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรโดยรวม  โดยมีคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพวิชาการในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้กับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่มีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพวิชาการในองค์รวมของกลุ่มสาระการเรียนรู้นั้น ๆ  อย่างใกล้ชิด  อาทิ  ตั้งแต่การกำหนดสาระแกนของกลุ่มสาระการเรียนรู้   การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ตัวอย่าง  พิจารณาและเสนอแนะสิ่งต่าง ๆ ทั้งสื่อแบบเรียน  สื่ออุปกรณ์ต่าง ๆ  ที่เหมาะสมในกลุ่มสาระการเรียนรู้นั้น  ๆ   ตลอดจนการประสานจัดเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ในการสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและการจัดการเรียนรู้   เป็นต้น ทั้งนี้สิ่งต่าง ๆ  ที่คณะกรรมการและอนุกรรมการ ฯ  กำหนดล้วนอยู่บนหลักการการสนับสนุนสถานศึกษาให้มีตัวอย่างหรือทรัพยากรที่จะพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาเอง   และสามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ   โดยเฉพาะกับสถานศึกษาจำนวนไม่น้อยที่มีความพร้อมไม่มาก และต้องการการสนับสนุนทางวิชาการลักษณะนี้  และทั้งนี้ทั้งนั้นการดำเนินการจะอยู่บนฐานหลักการใหญ่  คือ  การกระจายอำนาจทางวิชาการและการบริหารจัดการสู่สถานศึกษาเป็นสำคัญ

ก่อนหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพวิชาการ  ทางกระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งคณะกรรมการจัดทำรายละเอียดสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนา  ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฯ และตามด้วยคณะกรรมการฯ สาระการเรียนรู้อิสลามศึกษา ซึ่งมีบทบาทใกล้เคียงกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพวิชาการ   แต่ดูแลเฉพาะสาระการเรียนรู้นั้น  ๆ  ซึ่งผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง  ยกตัวอย่างคณะกรรมการฯ  สาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนา ซึ่งดำเนินการตามภาระกิจเสร็จสิ้นกว่าร้อยละ  80 โดยคณะกรรมการเกิดขึ้นจากความร่วมมือจากมหาเถรสมาคม  มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  มหามกุฎราชวิทยาลัย  เป็นต้น   โดยมีพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพโสภณ  อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นประธานคณะกรรมการ   และในโครงการประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพวิชาการ  ครั้งที่  1  เมื่อวันที่  16  พฤษภาคม  2545  ที่ผ่านมา(และกำหนดให้มีการประชุมทุกเดือน)  ทางประธานคณะกรรมการฯ สาระพระพุทธศาสนา  ได้รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการอันเกิดผลการดำเนินงานเป็นที่น่าชื่นชม และเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดหลักสูตรสถานศึกษาและการจัดการเรียนการสอนสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนาที่จะเกิดขึ้นต่อไปเป็นอย่างยิ่ง 

ในไม่ช้าเมื่อคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพวิชาการ  ดำเนินงานได้ตามภาระกิจ  การขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพวิชาการตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฯ ทั้งระบบ ก็จะเกิดภาพที่ชัดเจน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนให้โรงเรียนส่วนใหญ่สามารถพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรฯ ได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยความรู้สึกที่อุ่นใจและไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป และนั่นก็คือ … ความมั่นใจการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้นได้ทั่วถิ่นไทย

 

แหล่งที่มา :   ดร.ไพรัช  สู่แสนสุข และ ดร.บรรเจอดพร  รัตนพันธุ์

 


รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


person

สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
ผู้บริหาร